Blog

การแบ่งประเภทของป้าย

ป้ายโฆษณามีการแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ตามลักษณะของการนำไปใช้งาน
ได้ 2 ประเภท (เอ ที ดีไซน์ แอนด์ แอดเวอร์ไทซิ่ง, 2557) ได้แก่

  1. ป้ายสำหรับติดตั้งภายในอาคารส่วนใหญ่จะเป็นป้ายที่เน้นไปที่ความคมชัดของตัวป้าย เนื่องจากจะเป็นป้ายระยะใกล้หรือระยะสายตาของผู้บริโภค และบางครั้งตัวป้ายจะมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เป็นจำนวนมากนั่นเอง นอกจากนี้บางครั้งยังอาจมีรายละเอียดของเนื้อหาค่อนข้างมาก ป้ายประเภทนี้ ได้แก่ ป้ายสติ๊กเกอร์ตกแต่งร้าน ป้ายชื่อห้อง ป้ายชื่อร้าน ป้ายบอกทาง ป้ายเตือน ป้ายดิสเพลย์ ป้ายประชาสัมพันธ์ต่างๆ รวมไปถึงป้ายกล่องไฟหน้าร้าน แอลอีดี (LED) นีออนไลท์ ป้ายชื่อร้าน เป็นต้น ป้ายที่ใช้ภายในอาคารนั้น สามารถใช้วัสดุได้หลากหลาย เนื่องจากไม่มีปัญหากับสภาพอากาศภายนอก จึงทำให้สามารถดีไซน์วัสดุป้ายได้เกือบทุกชนิด เช่น แสตนเลส ซิงค์ ทองเหลือง ทองแดง ไม้อะคริลิค พลาสวู๊ด แผ่นลามิเนต สติ๊กเกอร์ เป็นต้น
  2. ป้ายสำหรับติดตั้งภายนอกอาคารป้ายประเภทนี้ส่วนมากมักจะเน้นเป็นป้ายขนาดใหญ่ ตัวป้ายต้องมีความทนทานเป็นอย่างมาก วัสดุจะต้องมีความคงทน ทนต่อแสงแดด ทนต่อน้ำและฝน เนื่องจากตัวป้ายต้องสัมผัสกับสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมภายนอกตลอดเวลา ป้ายภายนอกนี้นิยมใช้โฆษณาโปรโมชั่น หรือประชาสัมพันธ์ที่ใช้ข้อความสั้นๆ กระชับ เข้าใจง่าย ป้ายประเภทนี้ ได้แก่ ป้ายโครงเหล็กหน้าอาคาร ป้ายแผงตัวซี ป้ายตัวอักษรโลหะขนาดใหญ่ ป้ายบิลบอร์ด ป้ายแบนเนอร์ผนังตึก ป้ายทาวเวอร์ ป้ายเสาตั้ง ป้ายกล่องไฟขนาดใหญ่ ป้ายอลูมิเนียม ป้ายสแตนเลส เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการแบ่งประเภทของป้ายออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้อีกหลายประเภท ได้แก่

  1. ป้ายหน้าอาคาร มีลักษณะเป็นป้ายขนาดใหญ่ที่ติดตั้งบริเวณด้านหน้าของอาคารพาณิชย์ต่างๆ เพื่อทำการโปรโมทสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของธุรกิจให้ลูกค้าทั่วไปได้รับทราบข้อมูล เมื่อมีการจัดโปรโมชั่นต่างๆ โดยส่วนมากนิยมนำป้ายไวนิลมาติดตั้งกับโครงป้ายหน้าอาคารเนื่องจากราคาไม่แพง แต่บางครั้งธุรกิจที่มีกำลังทุนค่อนข้างสูง นิยมทำป้ายแผงตัวซี หรืออลูมิเนียมคอมโพสิท ประกอบกับตัวอักษรโลหะ เพื่อให้ภาพลักษณ์ของสินค้าหรือร้านค้าของตัวเองดูดี
    และดึงดูดความสนใจมากกว่าคู่แข่งหรือร้านค้าที่อยู่ใกล้เคียง แต่ถ้าเป็นร้านอาหาร ประเภทผับ บาร์ หรือร้านกาแฟ นิยมทำกล่องไฟติดตั้งด้านหน้าอาคารมากกว่า เนื่องจากบางครั้งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะมาใช้บริการช่วงเย็นเป็นหลักนั่นเอง
  2. ป้ายร้าน คือป้ายที่นำมาติดตั้งไว้ที่ด้านหน้า หรือภายในบริเวณร้านค้า ร้านอาหาร และห้างร้านต่างๆ เพื่อสื่อสารถึงผู้บริโภคให้มีความเข้าใจและรับรู้ถึงสินค้าและบริการของร้านค้านั้นๆ ป้ายที่นิยมนำมาตกแต่งร้านมีอยู่มากมายหลากหลายประเภท แล้วแต่ความเหมาะสม และงบประมาณของกิจการร้านค้านั้นๆ แต่ที่ขาดไม่ได้คือป้ายที่ระบุชื่อร้านค้านั้นๆ ร้านต่างๆ ส่วนมากจะทำป้ายตกแต่งสถานที่ให้ดูดี สวยงาม และน่าเข้ามาใช้บริการ เนื่องจากปัจจุบันลูกค้ามีตัวเลือกของสินค้าแต่ละประเภทเป็นจำนวนมาก ดังนั้นร้านค้าส่วนใหญ่จึงต้องปรับปรุงร้านค้าของตัวเองให้น่าสนใจที่สุด เพื่อชักจูงให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ ร้านค้าบางแห่งนำสติ๊กเกอร์มาตกแต่งกระจกหน้าร้าน เพื่อดึงดูดสายตาผู้ผ่านไปผ่านมา และแม้แต่ภายในร้านเองก็ต้องมีการนำสื่อโฆษณาสินค้าเข้ามาประกอบเพื่อความสวยงามของร้านค้าด้วยเช่นกัน
  3. ป้ายโรงงาน/ป้ายบริษัทคือ ป้ายต่างๆ ที่นำมาใช้ประกอบ ตกแต่ง ใช้งาน ภายบริเวณโรงงานหรือบริษัท เพื่อใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ที่อยู่บริเวณนั้น หรือเป็นการชี้เพื่อให้เกิดการเข้าใจร่วมกัน รวมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับลูกค้าด้วย ปัจจุบันทั้งโรงงานและบริษัททั้งหลาย ต่างก็มีการปรับปรุง ตกแต่งสถานที่ของตนเอง เพื่อให้มีภาพลักษณ์
    ที่ดีในสายตาลูกค้าและสังคม เนื่องจากปัจจุบันนี้จะเห็นว่า หลายธุรกิจมีความพยายามเชื่อมโยง
    ไปถึงกลุ่มลูกค้าที่กว้างขึ้น โดยนำเสนอภาพลักษณ์ขององค์กร ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมควบคู่กันไป ป้ายโฆษณาและสื่อโฆษณาจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย สถานประกอบการหลายแห่งนิยมทำป้ายชื่อ หรือป้ายโลโก้ของตนเองให้มีขนาดใหญ่และสวยงาม และมีความพยายามใช้ลูกเล่นแปลกใหม่ใส่ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสื่อสารให้บุคคลภายนอกได้รับทราบว่า สถานประกอบการของเรานั้นเป็นสถานประกอบการที่มีความคิดทันยุค ทันสมัย ล้ำหน้า เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ลูกค้า ดังนั้นจะสังเกตว่า ที่ด้านหน้าโรงงาน (Name board at front main gate) ผนังหน้าอาคารโรงงาน หรือด้านหน้าบริษัทต่างๆ จะมีป้ายชื่อหรือป้ายโลโก้ (Signage and Logo at front building) ที่มีความสวยงามและทันสมัยมากขึ้น หรือแม้กระทั่งป้ายภายในโรงงานเอง ก็มักจะมีการปรับปรุงป้ายต่างๆ ให้มีความใหม่ และมีเอกลักษณ์อยู่ในตัวเสมอด้วย เช่น ป้ายความปลอดภัย (Safety sign) ป้ายบอกทาง ป้ายเตือน ป้ายจราจร ป้ายชื่อห้อง ป้ายห้องประชุม บอร์ดประชาสัมพันธ์ บอร์ดวัฒนธรรมองค์กร Organization chart เป็นต้น
  4. ป้ายไฟ (Light box)มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ตู้ไฟ ป้ายกล่องไฟ หรือป้ายไฟยื่น มีลักษณะเป็นป้ายเหลี่ยม หรือเป็นลักษณะตัวอักษรดัดตามแบบ และตัวป้ายจะมีแสงสว่างในเวลากลางคืน ป้ายกล่องไฟ นิยมนำมาทำเป็นป้ายหน้าอาคาร ทำเป็นป้ายไฟชื่อร้าน และติดตั้งบริเวณหน้าร้านต่างๆ บางครั้งจะมีลักษณะเป็นตู้กล่องไฟตั้งบนเสาแล้วยื่นออกมาด้านนอกร้าน บางครั้งก็จะทำลักษณะติดบนผนังร้านค้า หรืออาคารพาณิชย์ ส่วนประกอบที่สำคัญของป้ายกล่องไฟคือ กรอบกล่องไฟ ซึ่งโดยส่วนใหญ่นิยมใช้วัสดุอลูมิเนียมเนื่องจากมีน้ำหนักเบา หรือบางครั้งก็อาจจะใช้
    สแตนเลส หรือซิงค์ ตัววัสดุด้านหน้านั้นส่วนใหญ่มักนิยมใช้ไวนิลโปร่งแสง หรืออะคริลิค
    ติดสติ๊กเกอร์ เนื่องจากมีความโปร่งใส มีน้ำหนักเบา ติดตั้งสะดวก อีกทั้งยังสามารถทนทาน
    กับความร้อนได้เป็นอย่างดี สำหรับหลอดไฟที่นำมาใช้ประกอบนั้น จะเป็นหลอดผอมประหยัดไฟแบบนีออน 18 วัตต์ หรือ 36 วัตต์ ทั้งนี้จำนวนของหลอดไฟก็จะขึ้นอยู่กับขนาดของตัวกล่องป้ายไฟ ซึ่งจะต้องติดตั้งหลอดให้พอดี เพื่อไม่ให้ไฟมีแสงสว่าง มากหรือน้อยเกินไปนั่นเอง
  5. ป้ายไฟแอลอีดี (LED Light box) เป็นป้ายที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับป้ายกล่องไฟ
    แต่มีส่วนประกอบหลักคือตัวหลอดไฟแอลดีดี ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง เนื่องจากแอลอีดี เป็นนวัตกรรมใหม่ที่เป็นที่ยอมรับในเรื่องประหยัดไฟ ความทนทาน และแสงสว่าง ทำให้ปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่นิยมทำป้ายไฟแอลอีดีกันเป็นจำนวนมาก จุดเด่นของป้ายไฟแอลอีดีคือสามารถปรับแต่งไฟตามโครงสร้างป้ายได้อย่างสะดวกและสวยงาม และมีอิสระในการปรับแต่ง ซึ่งปัจจุบันยังมีเทคโนโลยีสื่อโฆษณาอีกประเภทที่ได้รับความนิยมคือ จอแอลอีดี ซึ่งเป็นเสมือน จอทีวีขนาดใหญ่ตั้งอยู่บริเวณจุดที่มีการสัญจรพลุกพล่าน เช่น บริเวณสี่แยก หรือบริเวณศูนย์การค้า ตลาดนัด ซึ่งสามารถดึงดูดความสนใจของผู้พบเห็นได้เป็นอย่างดี โดยป้ายไฟแอลอีดี มีอยู่ 2 แบบ คือ แบบโชว์หลอด และแบบ ไฟ LED ภายในตัวอักษร
  6. ป้ายไฟนีออนไลท์ (Neon light) เป็นป้ายที่มีลักษณะหลอดไฟดัดโค้ง เป็นรูปทรงต่างๆ ตามต้องการ เช่น ตัวอักษร โลโก้ หรือวัตถุต่างๆ เพื่อสร้างสีสันแก่สถานที่นั้นๆ วัสดุหลักคือหลอดไฟนีออนไลท์ ป้ายไฟนีออนไลท์ เป็นรูปแบบป้ายที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน เนื่องจากความที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ส่วนใหญ่นิยมใช้เป็นป้ายในสถานบันเทิง ผับ บาร์ต่างๆ
    แต่ปัจจุบันหลายธุรกิจนิยมนำนีออนไลท์มาทำเป็นป้ายประชาสัมพันธ์กันอย่างแพร่หลาย เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ โรงแรม คอนโด อพาร์ทเมนท์ เป็นต้น เพราะเป็นป้ายที่สามารถ
    เป็นจุดสนใจแก่ผู้พบเห็นแม้ว่าจะอยู่ระยะไกลก็ตาม ป้ายไฟนีออนไลน์มีหลากหลายประเภท เช่น แบบมีแบ็คกราวน์ด้านหลัง แบบไฟออกด้านหลังอักษร แบบขดเป็นรูปเส้นของหลอดไฟ เป็นต้น
  7. ป้ายอักษรโลหะ (Metal Letters Signage)คือป้ายที่ใช้ตัวอักษรหรือสัญลักษณ์เป็นหลัก โดยรายละเอียดงานที่จะนำมาทำอักษรโลหะนี้ส่วนใหญ่จะไม่ซับซ้อน ส่วนใหญ่เป็นตัวหนังสือ ตัวเลข และโลโก้ ป้ายอักษรโลหะส่วนใหญ่นิยมนำมาเป็นป้ายชื่อบริษัท ป้ายโลโก้หน้าบริษัท หรือป้ายชื่อติดผนังหน้าบริษัทหรือโรงงานต่างๆ หรือแม้กระทั่งในปัจจุบัน ธุรกิจ กิจการร้านค้าต่างๆ ทั้งคลีนิก ร้านทอง โรงจำนำ ศูนย์บริการ โรงพยาบาล หรือแม้กระทั่งหน่วยงานราชการ นิยมใช้กันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากตัวป้ายจะมีลักษณะเป็น 3 มิติ มีความนูน ความลึก ทำให้ผู้พบเห็นดูแล้วสามารถเรียกร้องความสนใจและสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ร้านค้าหรือสินค้าได้เป็นอย่างดี

วัสดุที่นิยมนำมาใช้ทำอักษรโลหะ ได้แก่ 

7.1 สแตนเลส (Stainless) จุดเด่นของป้ายอักษรสแตนเลส คือ มีความเงา มันวาว และมีความสวยงามของผิวสแตนเลส ทำให้เจ้าของกิจการ โรงงาน ร้านค้าต่างๆ นิยมทำอักษรโลหะด้วยสแตนเลส โดยจะเป็นลักษณะของตัวหนังสือสแตนเลสหนาเป็นมิติ พับและยกขอบ ซึ่งมีทั้งแบบด้าน(ขนแมว) และแบบเงา เพราะสามารถดึงดูดความสนใจแก่ผู้พบเห็น ดูหรูหรา สวยงาม และสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้าได้เป็นอย่างมาก

7.2 ซิงค์ & สังกะสี โลหะซิงค์และสังกะสีนั้น ส่วนใหญ่นิยมนำมาใช้ทำอักษรโละ แล้วพ่นสีทับอีกที เนื่องจากอักษรโลหะประเภทนี้ ไม่ได้โชว์ผิวของวัสดุ ทำให้นิยมนำมาทำป้ายแบบพ่นสี ทำให้จุดเด่นของป้ายอักษรโลหะซิงค์และอักษรโลหะสังกะสี คือสามารถเลือกสีสันได้ตามที่เราต้องการ ทำให้หน้าร้านหรือหน้าอาคารดูมีสีสันสวยงามไปอีกแบบหนึ่ง

7.3 ทองเหลือง จุดเด่นของทองเหลืองก็คือ ผิวของวัสดุจะเป็นสีทองแวววับ เมื่อนำมาทำป้ายอักษรโลหะ จะทำให้ตัวป้ายดูหรูหรา มีราคาขึ้นมาทันที ส่วนใหญ่มักนิยมนำมาใช้ทำป้าย
ที่เน้นโชว์ผิวสีทองของวัสดุเป็นหลัก

7.4 ไทเทเนียม (Titanium) โลหะไทเทเนียม มีคุณสมบัติคล้ายๆ กับทองเหลือง แต่จะมีจุดเด่นคือ ผิวจะมันวาวกว่า ทนทานกว่า และทำให้ราคาอักษรโลหะไทเทเนียมสูงกว่าด้วย

นอกจากป้ายอักษรโลหะดังนี้กล่าวมาแล้ว จะมีวัสดุอีกส่วนหนึ่งที่นิยมนำมาใช้
ทำตัวอักษร คือ อะคริลิค (Acrylic) ปั๊มนูน พลาสวู้ดไดคัทเป็นตัวหนังสือ อลูมิเนียม และตัวอักษรแฮร์ไลน์ โดยนำมาฉลุเป็นตัวหนังสือหรือผลิตตามแบบ เมื่อนำมาทำป้ายก็มีความสวยงามไปอีกแบบด้วยเช่นกัน

  1. ป้ายแผงตัวซี (Panel C) สามารถเรียกได้อีกอย่างว่า โครงตัวซี หรือซีลายน์ นิยมนำมาทำเป็นป้ายหน้าอาคาร หน้าตึก หน้าร้านค้าต่างๆ ส่วนใหญ่จะนำมาทำเป็นพื้น ลักษณะแผงตัวซี
    หุ้มอาคาร สำหรับติดตัวอักษรโลหะอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจุดเด่นของป้ายคือเป็นลักษณะเส้นเป็นแนวยาวพาดตลอดแนวป้าย วัสดุหลักของป้ายประเภทนี้คือ แผงตัวซี และอักษรโลหะต่างๆ ที่นำมาประกอบกับงานป้าย เช่น ตัวหนังสือและโลโก้ บางครั้งนิยมนำไฟส่องสว่าง (Spotlight)
    มาประกอบเพื่อความสวยงามของตัวป้ายในยามค่ำคืน
  2. ป้ายทาวเวอร์ (Tower Sign)มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ป้ายตั้งเสา มีลักษณะสูงเด่น และมีเสาขนาดใหญ่รองรับตัวป้ายหรือ มีลักษณะเป็นป้ายขนาดใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้าอาคารต่างๆ ด้วยจุดเด่นที่มีลักษณะสูงใหญ่นี้เอง ทำให้บรรดา ศูนย์บริการรถยนต์ โชว์รูมรถ โรงงาน บริษัทขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า ปั๊มน้ำมัน ร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งตามสถานบันเทิงต่างๆ จึงนิยมทำป้ายทาวเวอร์ไว้ด้านหน้าสถานที่ของตนเอง เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภค เข้ามาใช้บริการ เพราะนอกจากจะมีความโดดเด่น สวยงามแล้ว ยังสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าได้เป็นอย่างดี วัสดุที่นำมาใช้
    เป็นชิ้นการประกอบกับป้ายทาวเวอร์นี้ ส่วนใหญ่จะทำเป็นป้ายตัวอักษร หรือโลโก้ขนาดใหญ่ หรือไม่ก็นิยมทำเป็นกล่องไฟขนาดใหญ่ และนิยมนำอลูมิเนียมคอมโพสิท (Aluminum Composite Panels) มาประกอบกับตัวป้ายเพื่อเพิ่มความหรูหราสวยงามให้กับตัวป้าย การผลิตป้ายทาวเวอร์นี้
    ต้องควบคุมด้วยวิศวกรที่มีความรู้เช่นเดียวกับป้ายบิลบอร์ด เนื่องจากเป็นป้ายขนาดใหญ่ จึงต้อง
    มีการสร้างฐานราก ตอกเสาเข็ม เพื่อความปลอดภัยและความทนทานของโครงสร้างป้าย
  3. ป้ายโครงเหล็ก เป็นป้ายที่มีส่วนประกอบหลักๆ คือ โครงเหล็กที่เชื่อมต่อกันเป็นแผงขนาดใหญ่ มีป้ายหลากหลายชนิดที่นำเหล็กมาทำเป็นโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างความแข็งแรง
    ให้ตัวป้าย เช่น ป้ายหน้าอาคาร สื่อโฆษณากลางแจ้ง สื่อโฆษณาตามถนน หรือแม้กระทั่งหน้าอาคารศูนย์การค้าต่างๆ ล้วนนำเหล็กมารองรับตัวป้ายด้วยเช่นกัน ปัจจุบันโครงเหล็กป้ายเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากความคงทน และมีความปลอดภัยสูง ป้ายโครงเหล็กนิยมนำมาติดตั้ง
    กับไวนิลหรือผ้าใบ เนื่องจากการติดตั้งและการจัดเก็บง่าย อีกทั้งไวนิลมีราคาไม่แพง เหมาะสำหรับสินค้าที่มีการเปลี่ยนโปรโมชั่นบ่อยๆ
  4. ป้ายไวนิล (Vinyl) คือ ป้ายที่มีผ้าใบ หรือไวนิลเป็นวัสดุหลัก ลักษณะของป้ายไวนิลจะมีความยืดหยุ่นสูง ทนแดด ทนฝน และสภาพอากาศได้ดีกว่าวัสดุพิมพ์ประเภทอื่น อีกทั้งยังมีราคาที่ไม่แพงนักในปัจจุบัน ทำให้เจ้าของกิจการส่วนใหญ่มักเลือกป้ายไวนิลในการทำสื่อโฆษณาต่างๆ ซึ่งจะสังเกตได้ว่าถ้าเราเดินไปตามถนน ตรอก ซอก ซอยต่างๆ ก็จะพบเห็นป้ายไวนิล
    ได้ทั่วไป โดยมีทั้งแบบแขวนตามหน้าร้าน และที่ติดอยู่บนโครงเหล็กขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านหน้าร้าน ผ้าไวนิลเองก็จะถูกนำไปเป็นวัสดุหลักของป้ายโฆษณาทุกประเภท เนื่องจากการติดตั้งและจัดเก็บง่าย สะดวก และมีความสวยงามด้วย ทำให้สื่อประเภทป้ายไวนิล ยังคงเป็นป้ายที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบันและอีกหลายๆ ปีข้างหน้าด้วย คงยากที่จะมีสื่อโฆษณาใดมาทดแทนสื่อชนิดนี้ได้อย่างแน่นอน
  5. ป้ายคัทเอาท์ (Cutout) คือ เป็นสื่อโฆษณาอยู่ภายนอกอาคาร ลักษณะของป้ายชนิดนี้จึงต้องทนแดด ทนฝน ทนสภาพดินฟ้าอากาศ ทนพายุ ป้ายคัทเอาท์ส่วนใหญ่นิยมทำด้วยโครงไม้ เหมาะสำหรับโฆษณาตามถนน และงานติดตั้งทั่วไปตามจุดสำคัญต่างๆ ที่สามารถดึงดูดสายตาของผู้พบเห็นเวลาสัญจรผ่านไปมา วัสดุหลักของป้ายส่วนมากจะพิมพ์ไวนิลด้วยหมึกคุณภาพสูง ขึงบนโครงไม้ แล้วนำไปติดตั้งตามจุดที่กำหนด เช่น ริมถนน ริมฟุตบาท เป็นต้น
  6. ป้ายบิลบอร์ด (Billboard)คือป้ายที่มีลักษณะเป็นป้ายแบบแผ่นกระดาน และถือเป็นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่รูปแบบหนึ่ง ส่วนใหญ่จะนิยมทำเป็นป้ายโฆษณากลางแจ้ง ที่ติดตามถนนสายหลัก หรือติดตามจุดสำคัญๆ เช่น สี่แยก ตลาด หรือจุดที่มีคนพลุกพล่าน เหมาะสำหรับทำเป็นป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นอย่างยิ่ง เพราะเนื่องด้วยความที่เป็นป้ายขนาดใหญ่ สามารถมองเห็นได้ระยะไกล และดูอลังการตระการตา สามารถดึงดูดความสนใจได้เป็นอย่างดี

ส่วนประกอบที่สำคัญของป้ายบิลบอร์ดคือ 

13.1 โครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่ ซึ่งการก่อสร้างป้ายนี้ ต้องใช้เหล็กที่มีความแข็งแรงทนทาน สามารถทนต่อสภาพแวดล้อม ดินฟ้าอากาศ พายุ ได้เป็นอย่างดี การก่อสร้างต้องให้วิศวกรควบคุมดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นลักษณะของการติดตั้งที่ต้องมีการวางเสาเข็ม ซึ่งเหมือนกับการก่อสร้างอาคารต่างๆ นั่นเอง โดยตัวโครงป้ายจะเป็นการนำเหล็กมาประกอบเข้ากัน
จนเป็นแผ่นเรียบขนาดใหญ่ และรองพื้นด้วยแผ่นโลหะอีกชั้นหนึ่ง

13.2 ตัวชิ้นงานโฆษณาโดยทั่วไปจะนิยมใช้ ไวนิลหรือผ้าใบเนื่องจากความง่ายและสะดวกในการติดตั้งและจัดเก็บ อีกทั้งทำให้ป้ายมีความสวยงามได้อีกด้วย ไวนิลที่ใช้จะเป็นไวนิลทึบแสง พิมพ์ด้วยหมึกที่สามารถทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศได้

13.3 ไฟ Spotlight เป็นไฟส่องป้ายสำหรับกลางคืน เนื่องด้วยเป็นป้ายขนาดใหญ่และนิยมนำไปติดตั้งในพื้นที่ที่มีการสัญจรคับคั่ง ทำให้สื่อโฆษณาชนิดนี้สามารถทำให้ทั้งกลางวันและกลางคืน ยิ่งในตอนกลางคืนด้วยแล้ว ป้ายโฆษณาประเภทนี้จะมีความสวยงามมากยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้นไฟสปอร์ตไลท์จึงมีความจำเป็นสำหรับสื่อโฆษณานี้มาก การติดตั้งไฟส่วนใหญ่จะนิยม      นำระบบเซ็นเซอร์ หรือ Timing เข้ามาใช้ด้วย

  1. ป้ายแบนเนอร์ (Banner Sign)คือ ป้ายที่มีลักษณะเป็นผ้าใบหรือไวนิลผืนใหญ่ขึงอยู่บนโครงไม้ หรือโครงเหล็กขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่นิยมทำเป็นป้ายหน้าอาคาร หน้าโครงการ บนตึกสูง หรือแม้กระทั่งตามถนนหนทาง ซึ่งจะสังเกตได้ง่ายหากพบเห็นคือ จะเป็นลักษณะของป้ายแนวนอนทอดยาวไปตามทาง โดยโครงการหมู่บ้าน บ้านจัดสรร อาคาพาณิชย์ หรือห้างสรรพสินค้าที่กำลังก่อสร้าง นิยมทำป้ายแบนเนอร์ทอดยาวไปตลอดโครงการ ทั้งนี้เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคได้มีการรับรู้ว่าจะมีการก่อสร้างโครงการ ณ จุดตรงนี้ เพื่อดึงดูดและสร้างฐานลูกค้าไว้ล่วงหน้านั่นเอง แต่ในบางครั้งจะเห็นได้ว่า จะมีแบนเนอร์แนวตั้งเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบรรดาห้างสรรพสินค้าต่างๆ ป้ายแบนเนอร์จะมีลักษณะคล้ายกับป้ายบิลบอร์ดในส่วนที่เป็นป้ายแนวราบเหมือนกัน แต่ป้ายบิลบอร์ดนิยมเรียกสำหรับป้ายที่มีโครงสร้างเป็นเสาสูงและมีขนาดใหญ่